การยื่นขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา แม้ใช้เวลาแต่ว่าคุ้มค่า
เราขอเริ่มต้นด้วยการชวนให้คุณจินตนาการว่า คุณเป็นผู้ประกอบการที่พัฒนาข้าวเหนียวมะม่วงบรรจุกระป๋องขึ้นมาได้สำเร็จ เมื่อสินค้านั้นออกสู่ตลาดก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจนยอดขายถล่มทลาย แต่ผ่านไปไม่นานยอดขายก็ลดฮวบลงเพราะมีธุรกิจรายอื่นมาทำสินค้าเลียนแบบหรือใช้ชื่อแบรนด์คล้ายของเรา เราเองคงไม่อยากให้เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง แต่เราก็มักจะได้ยินเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งอันที่จริงเราสามารถปกป้องความได้เปรียบทางการค้าของเราไว้ได้ด้วยการขอรับความคุ้มครองทางกฎหมายในทรัพย์สินทางปัญญาของเรา เพื่อที่หากเกิดเหตุการณ์ที่คนอื่นมาละเมิดสิทธิของเรา อย่างน้อยเราก็จะสามารถเรียกร้องให้มีการชดเชยความเสียหายได้
ทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความหมายตรงตัว คือเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากปัญญาหรือความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นผลงานศิลปะ สิ่งประดิษฐ์ กระบวนการผลิต แบบสินค้า หรือแม้แต่โลโก้ เป็นต้น สิทธิของเราในสิ่งเหล่านี้ต่างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่จะมีกระบวนการที่เราต้องทำเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองแตกต่างกันไปบ้าง ตามแต่ละประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา โดยประเภทของความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมาย ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า
ลิขสิทธิ์นั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เจ้าของผลงานได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของรังสรรผลงานจนออกมาเป็นชิ้นงาน เช่น หนังสือ เพลง ภาพยนตร์ ภาพเขียน ผลงานด้านศิลปะหรือวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ซึ่งผลงานสร้างสรรค์เหล่านั้น ถือเป็นงานมีลิขสิทธิ์ แม้ว่าจะไม่ใช่งานใหม่ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดคิดค้นหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาก่อนได้เลยก็ตาม โดยจะมีเพียงเจ้าของผลงานหรือเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้นที่มีสิทธินำผลงานของตนเองไปทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นนำไปทำเช่นนั้นได้
ส่วนสิทธิบัตรนั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ คนทั่วไปมักสับสนระหว่างสิทธิบัตรกับลิขสิทธิ์ แต่ความจริงแล้วเป็นทรัพย์สินทางปัญญาคนละประเภทที่แยกต่างหากจากกันอย่างชัดเจน
อนุสิทธิบัตรคล้ายกับสิทธิบัตร คือคุ้มครองการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้เหมือนกัน แต่มีเงื่อนไขและขั้นตอนในการขอรับความคุ้มครองน้อยกว่า เพราะการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอสิทธิบัตรได้นั้น นอกจากจะต้องเป็นการคิดค้นขึ้นใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดค้นมาก่อนแล้ว ยังต้องมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย ขณะที่ในการขอรับอนุสิทธิบัตรนั้น อาจเป็นการประดิษฐ์หรือการออกแบบใหม่ที่แตกต่างจากของเดิมเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นการคิดค้นต่อยอดจากของเดิมเพื่อให้มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้นโดยไม่ได้มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นกว่าของเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น กรรมวิธีการผลิตข้าวเหนียวมะม่วงบรรจุกระป๋องก็มีโอกาสขอยื่นจดสิทธิบัตรได้ หากก่อนหน้านี้ยังไม่มีการคิดค้นกรรมวิธีการผลิตข้าวเหนียวมะม่วงบรรจุกระป๋องมาก่อนเลย ในขณะที่หากเคยมีการคิดค้นกรรมวิธีนี้มาแล้ว แต่เราสามารถคิดค้นกรรมวิธีการผลิตข้าวเหนียวมะม่วงบรรจุกระป๋องที่สามารถคงความอร่อยและเก็บได้นานกว่าเดิม 2 เท่า โดยพัฒนาต่อยอดมาจากกรรมวิธีผลิตเดิม เราก็สามารถขออนุสิทธิบัตรสำหรับคุ้มครองกรรมวิธีการผลิตที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ได้
เครื่องหมายการค้า คือสิ่งที่ทำให้ผู้ซื้อรับรู้ความแตกต่างระหว่างสินค้าหรือบริการของเรากับสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น โดยเครื่องหมายการค้าหมายความรวมไปถึงสัญลักษณ์ รูป ตรา สี ฟ้อนท์ตัวอักษร ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ยกตัวอย่างเช่น โลโก้บนกระป๋องข้าวเหนียวมะม่วงของเราซึ่งทำให้ผู้ซื้อรับรู้ได้ว่านี่คือข้าวเหนียวมะม่วงกระป๋องของร้านเรา โดยเครื่องหมายการค้าที่จะจดทะเบียนตามกฎหมายได้จะต้องประกอบด้วย 3 เงื่อนไขครบถ้วน คือ
(1) มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากที่อื่น
(2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และ
(3) ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่เคยจดทะเบียนเอาไว้แล้ว
สำหรับการยื่นขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ นั้นก็มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะลิขสิทธิ์นั้นอันที่จริงไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน เพราะผลงานที่เข้าเงื่อนไขเป็นงานมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยอัตโนมัติหลังจากงานชิ้นนั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา แต่เจ้าของผลงานเองก็ควรเก็บรวบรวมหลักฐานที่แสดงว่าเราเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานไว้ด้วย เผื่อจำเป็นต้องใช้ยืนยันสิทธิความเป็นเจ้าของในกรณีที่มีผู้อื่นแอบอ้างนำผลงานของเราไปใช้ประโยชน์ หรืออาจยื่นจดแจ้งลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้เลยก็ได้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงาน คือไม่ได้ยื่นจดแจ้งเพื่อขอรับความคุ้มครอง แต่เป็นการยื่นจดแจ้งเพื่อเป็นหลักฐานทางทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของ
สำหรับสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้านั้น จำเป็นต้องยื่นคำขอจดทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งก่อนจะยื่นคำขอจดทะเบียน ควรต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ในการยื่นคำขอรับความคุ้มครองของทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทข้างต้นให้ดีก่อน ว่าการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือเครื่องหมายการค้าของเรานั้น เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่
ในการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ผู้ยื่นคำขอจะต้องแสดงรายละเอียดของการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย และหากเจ้าหน้าที่พบข้อบกพร่องในคำขอจดทะเบียนก็จะมีคำสั่งแจ้งให้แก้ไขคำขอ
เมื่อแก้ไขรายละเอียดต่างๆ คำขอตามคำสั่งนายทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่เป็นคำขอจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร ผู้ยื่นคำขอจะได้รับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรทันที แต่ในกรณีที่เป็นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรจะมีขั้นตอนการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านคำขอ หากไม่มีใครยื่นคัดค้านคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรของเรา ขั้นตอนต่อไปก็จะมีการออกสิทธิบัตรได้เลยสำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่สำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะมีอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญเพิ่มขึ้นมา คือการตรวจสอบการประดิษฐ์ โดยจะเป็นการตรวจสอบเพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาในรายละเอียดของการประดิษฐ์และข้อถือสิทธิ ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ คือ ไม่เคยมีการประดิษฐ์ในลักษณะนี้มาก่อน เป็นการประดิษฐ์ใหม่จริงๆ มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้จริงๆ ถึงจะได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร
ส่วนการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ควรต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของเราเข้าเกณฑ์ที่จะจดทะเบียนได้หรือไม่ มีลักษณะเป็นเครื่องหมายต้องห้ามจดทะเบียนตามกฎหมายมั้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรมีการตรวจสอบทางทะเบียนเบื้องต้นโดยตรวจค้นเครื่องหมายการค้าในฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ดีก่อนว่า เครื่องหมายการค้าของเรามีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาจากการถูกคัดค้านคำขอจดทะเบียน ฯลฯ จากนั้นจึงยื่นคำขอจดทะเบียน โดยนายทะเบียนจะตรวจสอบคำขอว่าเครื่องหมายการค้าของเราเข้าหลักเกณฑ์รับจดทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ นายทะเบียนก็จะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน ซึ่งหากเราไม่เห็นด้วยจะอุทธรณ์คำสั่งก็ได้ แต่หากนายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายเข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับจดทะเบียนได้ไม่มีปัญหาอะไร ก็จะมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอเป็นระยะเวลา 60 วัน หากไม่มีใครมาคัดค้านคำขอ นายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของเราต่อไป เท่ากับว่าเครื่องหมายการค้าของเราได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว
จะเห็นได้ว่าการยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความได้เปรียบทางการค้าและปกป้องธุรกิจของเรา จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับต้นๆ หากปล่อยให้เวลาผ่านไปก็อาจมีผู้อื่นมายื่นขอจดทะเบียนตัดหน้าไปได้ แต่อย่างที่บอกว่าการยื่นจดทะเบียนนั้นมีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ หากไม่อยากสูญเสียพลังไปกับขั้นตอนที่ยุ่งยากเหล่านี้ สามารถมาปรึกษากับทาง บริษัท สมนึกสุธี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด เพื่อให้ช่วยแบ่งเบาภาระท่านได้